เมื่อค่ายไอ-โมบาย กล้าออกสมาร์ทโฟนระดับ High end กับเขาซะที ด้วยการจับมือกับ Kyocera และได้สเปกระดับเดียวกับแบรนด์ดังกันน้ำได้ มาตรฐาน IP58 อีกทั้งยังเมดอินเจแปน เชิญพบกับ i-mobile IQX Ken สมาร์ทโฟนลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น...
และแล้ว วันเวลานั้นก็มาถึง เมื่อ House brand อย่าง i-mobile ที่ปกติจะทำสมาร์ทโฟนแนวคุ้มค่า ราคาประหยัด แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ความมั่นใจมีมากขึ้น ก็ได้เวลาแล้วที่จะต้องออกสมาร์ทโฟนระดับ High end กับเขาซะที ซึ่งก็ตามสไตล์เดิม คือต้องไปร่วมมือกับ OEM เพื่อผลิตครับ แต่งวดนี้เป็น OEM คุณภาพจากประเทศญี่ปุ่น คือ Kyocera และได้สเปกระดับเดียวกับพวก Flag ship จากแบรนด์ดังๆ เลย พร้อมฟีเจอร์สำหรับการถ่ายวิดีโอใต้น้ำโดยเฉพาะอย่างการกันน้ำมาตรฐาน IP58 และ Smart Sonic Receiver ที่เขาว่าช่วยให้บันทึกเสียงใต้น้ำได้ดีขึ้นด้วย … ทว่า ก้าวแรกสู่ระดับไฮเอนด์ของ i-mobile พร้อมกับสนนราคา 16,900 บาทครั้งนี้ จะเป็นยังไง ลองไปอ่านรีวิวกันครับ

i-mobile IQX Ken
รูปร่างหน้าตาของ i-mobile IQX Ken
ปกติแล้ว i-mobile จะไป OEM กับทางผู้ผลิตในประเทศจีนครับ แต่ครั้งนี้เป็นสมาร์ทโฟนระดับ High end ดังนั้นจึงเลือกที่จะ OEM กับทาง Kyocera ซึ่งก็เป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนในประเทศญี่ปุ่น โดยงวดนี้อาศัยความเป็น Made in Japan ประกอบกับการเลือกวัสดุทำตัวเครื่องเป็นอะลูมิเนียมยูนิบอดี้ ตามสไตล์ที่สมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์บางยี่ห้อ (เช่น Apple และ HTC) เขาทำกัน ทำให้งวดนี้ ดีไซน์ของ i-mobile เปลี่ยนแปลงไปเยอะน่าดู

i-mobile IQX Ken ด้านหน้า
ด้านหน้าเป็นหน้าจอ IPS LCD ขนาด 5 นิ้ว ความละเอียด 1920×1080 พิกเซล ให้ความหนาแน่นของพิกเซล 441ppi พร้อมกล้องดิจิตอลด้านหน้าความละเอียด 1.2 ล้านพิกเซล และพวกเซ็นเซอร์ต่างๆ เช่น เซ็นเซอร์ตรวจจับแสง, เซ็นเซอร์ Proximity อะไรพวกนี้ แต่ตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีปุ่ม เพราะไปใช้ On-screen button ตามแนวทางของระบบปฏิบัติการ Android และที่น่าประหลาดใจที่สุดคือ ไม่มีลำโพงโทรศัพท์ โดยเขาว่าเป็นเทคโนโลยีของ Kyocera คือ Smart Sonic Receiver ที่จะส่งคลื่นเสียงไปยังหูของเราแทนเวลายกขึ้นมาแนบหู

i-mobile IQX Ken ด้านหลัง
ด้านหลังของ i-mobile IQX Ken เป็นกล้องดิจิตอลความละเอียด 13 ล้านพิกเซล พร้อม LED Flash แล้วก็มีปุ่มเปิดปิดหน้าจอ ปุ่มปรับระดับเสียงอยู่ตรงนี้ด้วย มีขั้วทองเหลืองสำหรับต่อกับอุปกรณ์จำพวก Docking แล้วก็มีลำโพงของตัวเครื่อง (อันนี้ใช้ Smart Sonic Receiver ไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ยกมาแนบหู หุหุ) แล้วก็มีสัญลักษณ์ NFC ด้วย


แต่หากใช้ด้วยมือขวา ปุ่มเปิดปิดหน้าจอก็ใช้สบายอยู่
การดีไซน์ปุ่มกดไปไว้ด้านหลัง ส่วนใหญ่เขาให้เหตุผลเรื่องการออกแบบตามหลักการยศาสตร์ แต่ในกรณีของ i-mobile IQX Ken นั้น ผมว่ามันไม่ค่อยถูกหลักซักเท่าไหร่ เพราะปุ่มเปิดปิดของหน้าจอ ตำแหน่งมันดันไม่สะดวกใช้งานซักเท่าไหร่หากใช้ด้วยมือซ้าย แต่หากใช้ด้วยมือขวา นิ้วชี้มันก็ยังกดได้สะดวกอยู่ … แต่แนวดีไซน์ของ LG ที่ให้ปุ่มกดอยู่ตรงกลาง มันตรงตามหลักการยศาสตร์มากกว่าครับ เพราะใช้งานได้ทั้งสองข้าง

แต่การใช้มือขวา กดปุ่มปรับระดับเสียงลำบาก ต่อให้ใช้นิ้วโป้งก็ตาม ใช้นิ้วชี้ก็ลำบากกว่าอีก
ที่บอกว่าการออกแบบไม่ถูกหลักการยศาสตร์ก็เพราะ แม้จะใช้มือขวากดปุ่มเปิดปิดหน้าจอได้สะดวกอยู่ แต่การกดปุ่มปรับระดับเสียงก็ลำบากมาก ใช้นิ้วโป้งก็ไม่ถนัด จะเอานิ้วชี้มากดก็ไม่สะดวกแบบสุดๆ อีก

i-mobile IQX Ken ด้านล่าง
ด้านล่างของ i-mobile IQX Ken นั้นมีพอร์ต Micro USB 2.0, รูไมโครโฟนสำหรับสนทนา, ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. และช่องใส่ Nano SIM card และ MicroSD card ที่มีฝาปิดกันน้ำมิดชิด … น่าแปลกใจว่าทำไมพอร์ต Micro USB มันไม่มีฝาปิดก็ไม่รู้ เพราะปกติแล้ว แม้จะเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นกันน้ำ แต่พอร์ตที่ใช้ชาร์จแบตเตอรี่มักจะต้องมีการปิดมิดชิด หากจะลงน้ำ แต่ i-mobile IQX Ken นี่เขาว่ามีการออกแบบป้องกันมาอย่างดี … เอ้า! แบบนี้เดี๋ยวต้องลองครับ

เปิดฝาปิดออกมา จะเป็นช่องใส่ Nano SIM card กับ MicroSD card
อย่างน้อยที่สุด ก็เกือบจะชมอยู่แล้วเชียว ถ้าไม่ใช่เปิดช่องใส่ Nano SIM card และ MicroSD card ออกมาแล้วพบว่า มันต้องใช้อุปกรณ์เสริมเป็นที่เขี่ยเล็กๆ ใช้เกี่ยวเอาถาดใส่ Nano SIM card ออกมา ซึ่ง หากทำหายไปเนี่ย ก็แอบวุ่นวายเลยนะ … จริงๆ น่าจะหาทางออกแบบให้ใส่ Nano SIM card ได้สะดวกกว่านี้ครับ
แต่เพราะการออกแบบให้ทั้งปุ่มกด และช่องเสียบ พอร์ตใส่ต่างๆ ไปอยู่รวมๆ กันที่ด้านหลังและด้านล่าง ก็ทำให้ด้านบนและด้านข้างของตัวเครื่องมันไม่มีอะไรเลยครับ โล่งๆ เลย
สเปกและประสิทธิภาพของ i-mobile IQX Ken
ในฐานะที่เป็นสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ แถมตั้งราคาเอาไว้ตั้ง 16,900 บาท ดังนั้นก็ต้องมาดูกันหน่อยครับว่า แล้ว i-mobile IQX Ken นี่มาพร้อมกับสเปกยังไงบ้าง
• CPU: Qualcomm Snapdragon 800 MSM8974 Quad-core 2.2GHz
• GPU: Adreno 330
• Display: IPS LCD 5″ ความละเอียด 1920×1080 พิกเซล (441ppi)
• RAM: 2GB
• Internal storage: 32GB
• External storage: รองรับ MicroSD card สูงสุด 64GB
• Operating System: Android 4.2.2
• Connectivity
• Nano SIM card
• 2G: 850/900/1800/1900MHz (ทั้งสองซิม)
• 3G: 850/900/2100MHz (HSDPA: 14.4Mbps, HSUPA: 5.6Mps)
• 4G: 800/2100MHz
• WiFi: 802.11a/b/g/n/ac Dual-band
• Bluetooth: 4.0 + A2DP
• Infrared port: ไม่มี
• NFC: มี
• Camera
• ด้านหน้า: 1.2 ล้านพิกเซล
• ด้านหลัง: 13 ล้านพิกเซล พร้อม LED Flash
• Battery: 2,600mAh
• Dimensions: 138 มม. x 69 มม. x 9.9 มม.
• Weight: 134 กรัม
• Other: ถ่ายวิดีโอแบบ Slow motion 120fps, กันน้ำกันฝุ่นมาตรฐาน IP58, Smart Sonic Receiver
• Price: 16,900 บาท
ลองมาวัดประสิทธิภาพดู เพื่อความแน่ใจ ด้วยโปรแกรม Benchmark เหล่านี้
• Quadrant Advanced และ AnTuTu Benchmark สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพในภาพรวม
• MobileXPRT 2013 เพื่อประเมินประสบการณ์ในการใช้งานทั่วๆ ไป โดยทดสอบเรื่อง
• การตกแต่งภาพแบบต่างๆ การตรวจจับใบหน้าคนในรูป
• การเข้ารหัสข้อมูล
• ความลื่นไหลของอนิเมชั่นในการ Scroll ข้อมูลบนหน้าจอ
• 3DMark สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพการประมวลผลกราฟิก 3D
• Vellamo Mobile Web Benchmark สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพของการทำงานด้านเว็บ
• Geekbench สำหรับการวัดประสิทธิภาพการประมวลผลในภาพรวม โดยแบ่งเป็น Single-core และ Multi-core
ผลคะแนนที่ได้ก็ออกมาแบบนี้ครับ

ผลการวัดประสิทธิภาพของ i-mobile IQX Ken
คะแนนที่ได้ของ i-mobile IQX Ken นั้นถือว่าทำออกมาได้ดีครับ ไม่เสียทีที่ใช้ชิปเซ็ต Qualcomm Snapdragon 800 ครับ แต่คะแนนที่ได้ ยังไม่ถึงระดับ Flag ship ของแบรนด์ดังๆ ครับ แต่ก็ถือว่าใกล้เคียงมาก แต่เมื่อพิจารณาเทียบกับ i-mbile IQX Octo แล้ว ก็ถือว่าคะแนนสูงกว่าอยู่เล็กน้อยอีกเช่นกัน ด้วยสนนราคาที่แตกต่างกันอยู่หลายพันบาท ก็น่าคิดอยู่เหมือนกันว่าจะเลือกตัวไหนดี
ประสบการณ์ในการใช้งาน i-mobile IQX Ken
ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน เพราะคราวนี้ i-mobile IQX Ken ใช้ชิปเซ็ต Qualcomm Snapdragon 800 แล้ว ฉะนั้นจึงคิดได้เลยว่าตัว Firmware ที่ใช้จะต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน เพราะปกติแล้ว i-mobile จะใช้ชิปเซ็ต MediaTek ซึ่งทาง OEM เขาก็จะมี Firmware มาให้ใช้คู่กันอยู่ แต่เมื่อเปลี่ยนชิปเซ็ต ก็ต้องใช้ Firmware คนละตัวครับ
มาที่หน้า Lock screen นี่ก็มีการเปลี่ยนแปลงแล้วครับ ประการแรกเลยคือ i-mobile IQX Ken นี่มีฟีเจอร์การเปิดหน้าจอด้วยการเคาะหน้าจอด้วย แต่ว่าแตกต่างจากแบรนด์อื่นกันตรงที่ต้องเคาะสองทีติดกัน แล้วแตะหน้าจอค้างไว้ ถึงจะเปิดหน้าจอ อันนี้มันช่วยให้หมดห่วงเรื่องใส่กระเป๋าแล้ว i-mobile IQX Ken มันเปิดหน้าจอมาโดยบังเอิญได้ แต่ว่าก็ทำให้ใช้งานฟีเจอร์นี้ไม่ค่อยสะดวกซักเท่าไหร่ … แต่จะว่าไป มันก็สะดวกกว่าใช้ปุ่มเปิดปิดหน้าจอที่อยู่ด้านหลังอ่ะ

หน้า Lock screen ของ i-mobile IQX Ken
แน่นอนว่าหน้า Lock screen ของ i-mobile IQX Ken ก็ต้องแตกต่างไปจากเดิมเช่นกันครับ คือ หน้าที่ยังคงเหมือนเดิมนะครับ แต่ว่า User Interface มันเปลี่ยนไป ดูสวยงามขึ้นเยอะเลยทีเดียวเชียวล่ะ
Home screen ของ i-mobile IQX Ken
Home screen ของ i-mobile IQX Ken ก็ยังไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ครับ ก็แนวๆ ของระบบปฏิบัติการ Android แต่ว่าการใส่พวก Widget มันทำได้ง่าย เพราะแค่แตะค้างที่หน้าจอ ก็เพิ่ม Widget เข้าไปได้เลย และ i-mobile IQX Ken ก็เตรียมพวก Widget สำหรับฟังก์ชั่นต่างๆ เช่น โหมดประหยัดพลังงาน หรือ การนับก้าว เอาไว้ให้เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้สะดวก โดยไม่ต้องไปเปิด App ขึ้นมา

Widgets ที่ i-mobile IQX Ken เตรียมไว้ให้
ในส่วนของ Notifications และ QuickSettings นั้น ก็แตกต่างไปจาก Android device จากค่าย i-mobile เดิมๆ นะครับ คือเมื่อก่อนจะแยกเป็นแท็บ Notifications และ QuickSettings ออกจากกันเลย แต่ว่า i-mobile IQX Ken นี่ ทั้ง Notifications และ QuickSettings จะอยู่ในหน้าจอเดียวกัน และให้สไตล์คล้ายๆ กับ Notifications และ QuickSettings ของ Samsung ชอบกลนะ

Notifications และ QuickSettings ของ i-mobile IQX Ken
App tray คือส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปเยอะที่สุด และเรียกได้ว่าแตกต่างไปจาก Android device ยี่ห้ออื่นๆ ด้วยเลย เพราะมันถูกแบ่งออกเป็นการจัดเรียงหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นแสดงทั้งหมด หรือแสดงเฉพาะที่เปิดใช้บ่อยๆ หรือ จัดเรียงตามหมวดหมู่ของ App อะไรแบบนี้เป็นต้น เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่หลายๆ คน อาจจะไม่ได้เห็นประโยชน์ แต่สำหรับคนที่ชอบจัดหมวดหมู่ของ App ให้เป็นระเบียบละก็ User Interface แบบนี้ ก็อาจจะช่วยให้เลือกหา App ได้ไวขึ้นก็ได้นะ

App tray ของ i-mobile IQX Ken
หน้าจอแสดงผลขนาด 5 นิ้ว ความละเอียด 1920×1080 พิกเซล ให้ความสบายตาในการใช้งานทั่วๆ ไป ภาพดูคมชัดดี สมกับที่เป็นหน้าจอแสดงผลแบบ IPS LCD ซึ่งทำให้การใช้งานจำพวกท่องเว็บ หรือใช้งาน App ที่เน้นการอ่านตัวอักษรมันสบายตามาก แต่น่าเสียดายที่ i-mobile เขาไม่ได้จัดพวกโปรแกรมเบราวเซอร์มาให้โดยเฉพาะ แต่ใช้ของระบบปฏิบัติการ Android มาแบบเดิมๆ เลย แต่ก็ไม่ใช่ข้อด้อยที่หนักหนาสาหัสหรอกนะครับ

Browser ของ i-mobile IQX Ken ยังเป็นของระบบปฏิบัติการ Android เดิมๆ
และตามสไตล์ของพวกสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ในปัจจุบัน มันต้องมีโหมดประหยัดพลังงานแบบสุดๆ มาให้ด้วยครับ เพราะยิ่งเครื่องมันแรงแค่ไหน แบตเตอรี่ก็มีโอกาสหมดเร็วเท่านั้น และ i-mobile IQX Ken ก็มีโหมด E-saving ให้ตั้งด้วยครับ ที่แตกต่างก็คือเรื่องของ User Interface แต่ในทางปฏิบัติ ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากโหมดประหยัดพลังงานของยี่ห้ออื่นๆ เขาครับ ก็จะเป็นการปิดฟังก์ชั่นต่างๆ โดยเฉพาะพวกการเชื่อมต่อเครือข่าย และการปรับความสว่างของหน้าจอ อะไรพวกนี้
แต่ที่ต้องย้ำก็คือ โหมดประเภทนี้มันจะช่วยให้ประหยัดแบตเตอรี่เพิ่มได้อีกหน่อย โดยแลกกับการที่ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพมาก และจำนวนชั่วโมงที่แสดง ต้องสังเกตให้ดีๆ ว่าเขาเขียนไว้ว่า Standby นะครับ หมายความว่าเปิดไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้งานนะครับ ไม่ใช่ยังใช้ต่อไปได้อีกเท่านั้นเท่านี้ชั่วโมง
แต่ที่ต้องย้ำก็คือ โหมดประเภทนี้มันจะช่วยให้ประหยัดแบตเตอรี่เพิ่มได้อีกหน่อย โดยแลกกับการที่ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพมาก และจำนวนชั่วโมงที่แสดง ต้องสังเกตให้ดีๆ ว่าเขาเขียนไว้ว่า Standby นะครับ หมายความว่าเปิดไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้งานนะครับ ไม่ใช่ยังใช้ต่อไปได้อีกเท่านั้นเท่านี้ชั่วโมง

ตัวปรับตั้งการประหยัดพลังงานของ i-mobile IQX Ken
และเพื่อตามกระแสคนรักสุขภาพ i-mobile IQX Ken ก็อินเทรนด์ด้วยการให้ App ชื่อ Pedometer มาด้วย เป็นการใช้เซ็นเซอร์ Accelerometer มาทำการนับจำนวนก้าวที่เราเดินไป และสามารถใช้บันทึกข้อมูลการออกกำลังกายโดยการวิ่งและขี่จักรยานได้ด้วย ซึ่งก็ใช้งานได้ดีทีเดียว เอามาเป็นคู่หูในการออกกำลังกายได้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง i-mobile IQX Ken นี่กันน้ำกันฝุ่นมาตรฐาน IP58)

Pedometer ที่เป็นมากกว่าแค่การนับจำนวนก้าวเฉยๆ ของ i-mobile IQX Ken
ประสบการณ์ด้านมัลติมีเดียบน i-mobile IQX Ken
ตัวชิปเซ็ตที่ใช้บน i-mobile IQX Ken นั้นคือ Qualcomm Snapdragon 800 ที่สามารถประมวลผลได้กระทั่งคลิปวิดีโอระดับ 2160p หรือ 4K ฉะนั้นการจะเล่นไฟล์วิดีโอระดับ 1080p เนี่ย ไม่ใช่เรื่องลำบากอะไรเลยครับ สามารถดูได้สบายๆ และได้ภาพที่คมชัดบนหน้าจอแสดงผลระดับ 1080p ด้วย (ถ้าคิดจะเอาไฟล์ 4K มาดูบน i-mobile IQX Ken ก็ย่อมทำได้เช่นกันนะครับ)

คลิป 4K บน i-mobile IQX Ken
เสียงจากลำโพง เมื่อวางหงายลำโพงขึ้นจะได้ลักษณะเสียงโดยรวมออกมาดี มีน้ำหนัก กลม โดยเฉพาะเสียงที่อยู่ตรงกลางของ Mix รายละเอียดอื่นๆ จะออกจมนิดๆ พอวางหงายหน้าจอขึ้น ลำโพงหันหน้าเข้าพื้นผิวที่วาง เสียงจะแบนลง รายละเอียดจะกระจายตัว และออกมาชัดมากขึ้น เหมือนองค์ประกอบอยู่ในพื้นที่เดียวกันมากขึ้น สรุปว่าเหมาะกับการฟังแบบวางหงายหน้าจอมากกว่า
ทดสอบช่องหูฟัง พบว่าเนื้อเสียงดี มีน้ำหนัก มีการปรับแต่งให้แสดงย่านเบสที่ค่อนข้างลึก และย่านสูงที่ใสจนรู้สึกเด่นออกมา ข้อสังเกตคือผมรู้สึกถึงความไม่สมดุลไปเสียหน่อย ด้วยความที่เสียงสูงฟังดูมีลักษณะเปิดกว้าง ในขณะที่ช่วงเบสแม้จะอิ่ม ลึก แต่เนื้อเสียงเล็ก ช่วงเสียงแคบและมวลออกหลวมๆ ฟังดูไม่ค่อยแน่นเท่าไหร่ ทำให้รู้สึกว่ามันไม่ประคองเพลงนัก อีกทั้งไม่พอดีกับย่านสูง
ทดสอบช่องหูฟัง พบว่าเนื้อเสียงดี มีน้ำหนัก มีการปรับแต่งให้แสดงย่านเบสที่ค่อนข้างลึก และย่านสูงที่ใสจนรู้สึกเด่นออกมา ข้อสังเกตคือผมรู้สึกถึงความไม่สมดุลไปเสียหน่อย ด้วยความที่เสียงสูงฟังดูมีลักษณะเปิดกว้าง ในขณะที่ช่วงเบสแม้จะอิ่ม ลึก แต่เนื้อเสียงเล็ก ช่วงเสียงแคบและมวลออกหลวมๆ ฟังดูไม่ค่อยแน่นเท่าไหร่ ทำให้รู้สึกว่ามันไม่ประคองเพลงนัก อีกทั้งไม่พอดีกับย่านสูง

Dolby ปรับแต่งคุณภาพเสียงของ i-mobile IQX Ken
อย่างไรก็ดี i-mobile IQX Ken ก็มาพร้อมกับระบบ Dolby ที่ให้เราสามารถปรับแต่งเสียงเพิ่มได้ครับ ซึ่งก็ช่วยได้อีกระดับหนึ่ง แต่หากเป็นการใช้งานโดยทั่วไป ผมก็ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องไปยุ่งอะไรกับตรงนี้มากครับ อาจจะแค่เปิดใช้ระบบ Dolby นี้แล้วก็เลือก Preset ที่มีมาให้อยู่แล้ว ดูว่าอะไรที่โอเค ก็เลือกอันนั้นไป (หุหุ)
การเล่นเกมบน i-mobile IQX Ken
การเล่นเกมบน i-mobile IQX Ken
ด้วย GPU Adreno 330 ซึ่งเรียกว่าเป็นที่สุดของ GPU จาก Qualcomm ที่มีใช้งานกันบนสมาร์ทโฟน ณ ขณะนี้ จึงหมดห่วงในการเล่นเกมกราฟิก 3D แบบจัดหนักจัดเต็มครับ เล่นได้สบายๆ ด้วยคุณภาพกราฟิกระดับสูงสุดด้วย และให้ความลื่นไหลแบบไร้กระตุกเลยทีเดียว ส่วนเรื่องเสียงก็ไม่น่าห่วงครับ ความดังของลำโพงก็ใช้ได้อยู่ สามารถเล่นได้โดยไม่ต้องเสียบชุดหูฟังก็ได้ครับ

เล่นเกม Asphalt 8: Airborne บน i-mobile IQX Ken
จากประสิทธิภาพที่ได้ ไม่ต้องห่วงว่าในช่วงปีสองปีนี้จะเล่นเกม 3D ใหม่ๆ ไม่ได้ … ผมว่ายังสบายๆ ครับ เพราะประสิทธิภาพยังเหลือเฟือ เดี๋ยวพอมีเกมใหม่ๆ ที่ต้องใช้กราฟิกโหดๆ (เช่น เกม Modern Combat 5: Blackout จากค่าย Gameloft ที่กำลังจะออกมาเร็วๆ นี้) ผมก็ว่ายังเล่นได้สบายๆ อยู่นะ
ที่รู้สึกไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่ ก็คงจะเป็นเรื่องการที่ตัวเครื่องของ i-mobile IQX Ken เป็นอะลูมิเนียม เลยทำให้การระบายความร้อนมันแผ่ออกมาทั่วๆ ตัวเครื่อง เวลาเล่นเกมนานๆ ตัวเครื่องจะเริ่มร้อนขึ้นเรื่อยๆ ไม่ค่อยสบายมือเท่าไหร่
การใช้ i-mobile IQX Ken ถ่ายรูปและถ่ายวิดีโอ
ที่รู้สึกไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่ ก็คงจะเป็นเรื่องการที่ตัวเครื่องของ i-mobile IQX Ken เป็นอะลูมิเนียม เลยทำให้การระบายความร้อนมันแผ่ออกมาทั่วๆ ตัวเครื่อง เวลาเล่นเกมนานๆ ตัวเครื่องจะเริ่มร้อนขึ้นเรื่อยๆ ไม่ค่อยสบายมือเท่าไหร่
การใช้ i-mobile IQX Ken ถ่ายรูปและถ่ายวิดีโอ
User Interface กล้องของ i-mobile IQX Ken ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเช่นกันครับ โดยความเห็นส่วนตัว ผมชอบลูกเล่นของ Camera app ของ i-mobile IQX รุ่นอื่นๆ ที่ใช้ชิป MediaTek มากกว่า โดยเฉพาะตัวล่าสุด i-mobile IQX Octo … แต่ UI ของ Camera app ของ i-mobile IQX Ken ก็ไม่ซับซ้อนนะครับ ใช้งานไม่ยาก

User Interface กล้องของ i-mobile IQX Ken
แม้ลูกเล่นหลายๆ อย่างจะหายไปจากตอนเป็น i-mobile ที่ใช้ชิป MediaTek แต่ก็มีลูกเล่นจำพวกการใส่เอฟเฟกต์ต่างๆ เข้ามาแทนที่ และโหมดการถ่ายภาพหลากหลายแบบ แต่ก็น่าแปลกใจที่ไม่มีโหมดพาโนรามาให้เลือก นอกจากนี้ ตัวเลือกในการปรับขนาดของภาพถ่ายและวิดีโอมันดูแปลกๆ ครับ ไม่ค่อยไปด้วยกันซักเท่าไหร่ เช่น หากตั้งไว้ที่ความละเอียดภาพนิ่ง 13 ล้านพิกเซล เวลากดปุ่มถ่ายวิดีโอ จะถ่ายได้แค่ที่ความละเอียดระดับ VGA (3 ล้านพิกเซล) เท่านั้นเอง … ซะงั้น

การเลือกความละเอียดภาพนิ่งและวิดีโอดูแปลกๆ เข้าใจยาก
คุณสมบัติการปรับโฟกัสและชดเชยแสงด้วยการแตะบนหน้าจอที่เคยมีใน i-mobile หลากหลายรุ่น พอมาเป็น i-mobile IQX Ken นี่ก็หายไปครับ น่าเสียดายมาก … แต่ตัวกล้องดิจิตอลความละเอียด 13 ล้านพิกเซลของ i-mobile IQX นี่ ให้คุณภาพของภาพถ่ายที่ออกมาดูดีกว่ากล้อง 13 ล้านพิกเซลตามปกติของ i-mobile พอสมควร และงวดนี้ไม่มีการเอาซอฟต์แวร์มาเพิ่มความละเอียดของภาพให้กลายเป็น 18 ล้านพิกเซลเพื่อมาใช้ด้านการตลาดประชาสัมพันธ์ด้วย

ตัวอย่างภาพถ่าย 1

ตัวอย่างภาพถ่าย 2

ตัวอย่างภาพถ่าย 3
อีกส่วนนึงที่ i-mobile IQX Ken ด้อยลงไปจาก i-mobile รุ่นอื่นๆ ก็คือ กล้องดิจิตอลด้านหน้าที่เหลือความละเอียดแค่ 1.2 ล้านพิกเซลเท่านั้น ถามว่าคุณภาพโอเคไหม ก็ต้องบอกว่าโอเคครับ แต่ว่าถ้าเทียบกับกล้องดิจิตอลด้านหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซลเหมือนอย่างเคยแล้ว มันก็ยังด้อยกว่าพอสมควรเลยน่ะครับ
แม้ว่าชิปเซ็ต Qualcomm Snapdragon 800 นั้นจะมีศักยภาพในการถ่ายวิดีโอความละเอียด 4K และตัวเซ็นเซอร์กล้องดิจิตอลของ i-mobile IQX Ken ก็น่าจะสามารถถ่ายวิดีโอความละเอียดนี้ได้ แต่ว่า i-mobile ก็เลือกที่จะให้ถ่ายวิดีโอได้ความละเอียดสูงสุดแค่ Full HD 1080p เท่านั้นครับ ซึ่งวิดีโอที่ได้ ก็ได้คุณภาพที่ค่อนข้างโอเคดี แต่จุดขายจริงๆ คงเป็นเรื่องการกันน้ำตามมาตรฐาน IP58 (หมายถึง กันฝุ่นในระดับหนึ่ง แต่ไม่ถึงขนาดกันได้ทั้งหมด และกันน้ำได้ลึกกว่า 1 เมตร เป็นเวลา 30 นาที … แต่ทาง i-mobile จะระบุในสเปกว่ากันน้ำ 1 เมตร ที่ 30 นาทีครับ) ซึ่งว่ากันว่าด้วยเทคโนโลยี Smart Sonic Receiver นี่ก็จะช่วยให้การอัดเสียงใต้น้ำทำได้ดีด้วย
บทสรุปการรีวิว i-mobile IQX Ken
ถือว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญของ i-mobile เมื่อตัดสินใจออกสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ ในราคาระดับเกือบๆ จะไฮเอนด์ ซึ่งนับว่าจับมือเป็นพันธมิตรดี มีจุดเด่นของความเป็น Made in Japan ในการขาย เลือกวัสดุมาทำตัวเครื่อง เลือกฮาร์ดแวร์มาได้ดี แต่น่าเสียดายที่ต้องแลกมาด้วยการจากไปของจุดเด่นเดิมๆ ของ i-mobile เช่น การรองรับ 2 ซิม หรือ กล้องดิจิตอลด้านหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล และพวกลูกเล่นของ Camera app บางตัว เป็นต้น แต่โดยความเห็นส่วนตัว i-mobile ควรจะหาจุดเด่นเพิ่มมาเสริมจุดแข็งเดิมของตนมากกว่าที่จะเอาจุดแข็งเดิมออกน่ะครับ … นอกจากนี้ เมื่อ i-mobile ก้าวสู่ความเป็นไฮเอนด์กับเขาบ้างแล้ว ต้องพิจารณาเรื่องการพัฒนา Firmware ของตนเอง และสามารถตอบผู้ใช้งานได้เต็มปากเต็มคำแล้วด้วยว่า จะสามารถอัพเกรดเป็นเวอร์ชั่นใหม่ๆ ได้อีกนานแค่ไหน ไม่ใช่ต้องรอ OEM ตอบครับ
อย่างไรก็ดี ก้าวนี้ของ i-mobile ก็จะต้องเจอกับความท้าทายที่น่าจับตามองครับ เพราะสนนราคา 16,900 บาทนี่เรียกว่าใกล้เคียงกับ (อดีต) Flag ship บางรุ่นของแบรนด์ใหญ่ๆ เลยนะครับ อย่างเช่น LG G2 หรือหากเทียบกับแบรนด์ชื่อดังอย่าง Lenovo ที่จัด Lenovo Vibe Z ที่สเปกใกล้เคัยงกับ i-mobile IQX Ken แต่สนนราคาแค่ 14,900 บาท อันนี้ก็น่าคิดอีกเช่นกัน ก็ต้องดูกันว่าคำว่า Made in Japan นั้น จะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน.
คงเดช กี่สุขพันธ์
thairath.co.th/content/423758